เช็ค

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

"ปลอด"ชักธงเขียวเปิดปฎิบัติการซ้อมระบายน้ำ


เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ ( 5 ก.ย.) ที่ศูนย์ประสานงานภาคสนาม ปากซอยเพชรเกษม 102/4  ซึ่งเป็นจุดทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตก บริเวณปลายคลองทวีวัฒนา   เจ้าหน้าที่จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร หรือสสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กองทัพเรือ กรมชลประทาน  และกทม. ร่วมทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ทั้งนี้ กทม.และกองทัพเรือ ได้นำเรือผลักดันน้ำ 10ลำ พร้อมเครื่องผลักดันใต้น้ำ2 เครื่อง มาติดตั้งบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ  ซึ่งมีการใช้อากาศยานไร้นักบิน หรือยูเอวี  ในการบินตรวจสอบพร้อมทั้งติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อออนไลน์ข้อมูลเชื่อมโยงไปยังที่ศูนย์ปฎิบัติการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ ที่ตั้งอยู่ที่ สสนก.
ต่อมาเวลา 13.40 น. วันเดียวกัน นายปลอดประสพ  สุรัสวดี  รมว.วิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานกบอ. ได้เดินทางมาถึงศูนย์ประสานงานภาคสนาม เพื่อตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์   และรับการชี้แจงขั้นตอนการปฎิบัติงานจาก ดร.สมัย ใจอินทร์  ผู้เชี่ยวชาญกองทัพเรือกรรมการคณะอนุกรรมการการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ กบอ.   จากนั้นจึงเข้าประจำจุดเปิดการปฎิบัติการ เมื่อได้รับสัญญาณแจ้งจากนายรอยล  จิตรดอน ผู้อำนวยการสสนก.
นายปลอดประสพ ได้ยกธงเขียว เพื่อเป็นสัญญาณให้เรือผลักดันน้ำทั้ง 12 จุด  เดินเครื่องเต็มกำลัง  นายปลอดประสพ   กล่าวว่า หลังจากที่เดินเครื่องผลักดันน้ำ 20 นาที  พบว่าน้ำที่ไหลผ่านประตูน้ำ มีอัตราการไหลประมาณ 0.424 เมตร เมตร ต่อวินาที จากเดิมก่อนเดินเครื่อง ที่มีเพียง 0.2 เมตร ต่อวินาที ถือว่าเป็นการทดสอบที่น่าพอใจ  หากมีน้ำเต็มคลองจริง ๆ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีกว่า ช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 54 ถึง 3 เท่า จุดนี้ ถือเป็นการประเมินขีดความสามารถขั้นต่ำสุด เนื่องจากปลายคลองทวีวัฒนา จะมีสภาพแคบ ตื้นเขินและที่สำคัญมีสะพาน ซึ่งมีตอม่อ ขวางทางน้ำเอาไว้ ทำให้การระบายน้ำยากยิ่งขึ้น 
สำหรับการทดสอบวันนี้จะถูกนำไปปรับแก้แบบจำลองบนโต๊ะ หากได้ผลตามที่คาดการณ์ไว้  เชื่อว่าปีนี้ ชาวกทม.จะปลอดภัยจากน้ำท่วมแน่นอน  ขอให้ทุกคนให้เลิกกังวลใจ ส่วนการทดสอบการระบายน้ำในฝั่งตะวันออกในวันที่ 7 ก.ย.นี้  จะเป็นคนละแบบกัน เพราะพื้นที่ฝั่งตะวันออกนั้น ทำยากกว่ามาก เนื่องจากมีอุปสรรคจากหลายปัจจัย เช่น คลองแคบ  มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ 2 ฝั่งคลอง และประชาชนอยู่อาศัยมาก  แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเรื่องของวิชาการ และวิทยาศาสตร์  ซึ่งจะต้องนำมาปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน.
แหล่งที่มา http://www.dailynews.co.th/politics/153549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น