เช็ค

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติท้าวสุรนารี

ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม (พ.ศ. 2315-พ.ศ. 2394) บุคคลในประวัติศาสตร์ไทยผู้กอบกู้เมืองนครราชสีมา จากกองทัพของเวียงจันทร์




พุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไปถึงทุ่งสำริด ท่านผู้หญิงโมรวบรวมกำลังหญิงชายเข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน กองทหารเวียงจันทน์แตกพินาศ เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพกลับ ในที่สุด กองทัพไทยยกตามไปปราบจับตัวเจ้าอนุวงศ์ ท่านผู้หญิงผู้กล้าหาญได้นามว่าเป็นวีรสตรี กอบกู้อิสรภาพนครราชสีมาไว้ด้วยความสามารถ มีคุณต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านผู้หญิงโม เป็น ท้าวสุรนารี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา (ทองคำ) ผู้เป็นสวามีท้าวสุรนารี เป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี ปรากฏในพงศาวดารมาจนทุกวันนี้


ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1214 (พ.ศ. 2395) อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ ต่อมาเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) เมื่อเป็นพระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2442


ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก ทั้งยังอยู่ในที่แคบไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ใต้ฐานรอง สร้างเสร็จประดิษฐานไว้ ณ ประตูชุมพลนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477


ครั้นพ.ศ. 2530 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา มี นายสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ได้ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์ บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530


วีรกรรมของคุณหญิงโมนั้นเป็นที่คนไทยรุ่นหลังทราบดีว่า ท่านได้เป็นหัวหน้ารวบรวมครอบครัวชายหญิงชาวนครราชสีมา (ที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย) เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสำริด แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ ที่ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด วีรกรรมอันห้าวหาญของคุณหญิงโม เมื่อทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี และได้รับ พระราชทานเครื่องยศ ดังนี้ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก ๑ ใบ จอกหมากทองคำ ๑ คู่ ตลับทองคำ ๓ ใบเถา เต้าปูนทองคำ ๑ ใบ คนโทและขันน้ำทองคำอย่างละ ๑ ใบ อนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และได้บูรณะใหม่ให้งามสง่ายิ่งขึ้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ เหตุการณ์ที่สมควรจะบันทึกไว้ในปี




พุทธศักราช ๒๕๒๔ คือเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ท่ามกลางพสกนิกร ที่เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีอย่างเนื่องแน่น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า


“ท้าวสุรนารีเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมา ได้แสดงพลังต้องการ ความเรียบร้อยความสงบเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง

แหล่งที่มา: http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ท้าวสุรนารี

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลฎีกา เลือกตั้ง เพิกถอนการสรรหา “ศรีสุข ส.ว.สรรหา”

ที่ศาลฏีกา แผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (26 ก.ค.) ศาลนัดฟังคำสั่งคดีดำ ลต.(ส.ว.) 2/ 2555 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นายศรีสุข รุ่งวิสัย ผู้คัดค้าน กรณีกกต.เพิกถอนสิทธิการสรรหาของนายศรีสุข เนื่องจากกกต.ได้รับบัตรสนเท่ห์ว่า นายศรีสุขเป็นผู้เสียสิทธิและไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นนทบุรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค.52 เมื่อ กกต.ตั้งอนุกรรมการไต่สวน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เดิมนายศรีสุขมีภูมิลำเนาใน จ.นนทบุรี และเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นนทบุรี นายศรีสุขไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อมานายศรีสุขย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่เขตบางแค กทม. โดยเมื่อวันที่ 29 ส.ค.53 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) การเลือกตั้ง 2 ประเภท กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก.จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ปี ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ข.จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน นายศรีสุข แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก. แต่ตรวจสอบแล้วพบว่านายศรีสุขมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เขตบางแคไม่ถึง 1 ปี ดังนั้น นายศรีสุขจึงเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. จึงถือว่าก่อนวันลงทะเบียนเข้ารับสรรหาเป็น ส.ว. นายศรีสุขเป็นผู้เสียสิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นนทบุรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค.52
เมื่อถึงเวลานัด นายศรีสุขได้แถลงต่อศาลขอเลื่อนฟังคำสั่งออกไป โดยรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็น จึงให้อ่านคำสั่งวันนี้
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้ เนื่องจากมีอำนาจยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 238 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 โดยยื่นภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันประกาศรับรองผลการสรรหาส.ว.เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 54 โดยคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเข้าเพื่อเข้ารับการสรรหาส.ว.หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.)จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 52 โดยไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นเหตุให้เสียสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แต่ต่อมาในคราวที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) วันเดียวกันในวันที่ 29 ส.ค.53 ซึ่งผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งส.ก. เพราะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ครบระยะเวลาที่พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ คงมีสิทธิ์เลือกตั้งเฉพาะส.ข.เพียงอย่างเดียว ผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่มีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิต่อผู้อำนวยการเขตบางแค เห็นว่า กำหนดระยะเวลาการเสียสิทธิตามมาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งถัดมาจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น  ผู้คัดค้านจึงยังเป็นผู้เสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. การที่สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเสนอชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. จึงไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีผลให้การสรรหาส.ว.เป็นไปโดยไม่ถูกต้อง โดยผู้คัดค้านเข้าใจคลาดเคลื่อนเองว่า เมื่อไม่ได้ไปเลือกตั้งส.ข.แล้วได้ทำหนังสือแจ้งเหตุผลไปถึงผู้อำนวยการเขตบางแค แม้จะไม่มีหนังสือตอบกลับว่าเหตุผลดังกล่าวไม่มีเหตุอันควร ผู้คัดค้านจึงเข้าใจว่าตนยังไม่เสียสิทธิ  กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านยินยอมให้สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาฯ เสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.โดยไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้คัดค้านตามคำร้อง อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 240 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 134 จึงคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาส.ว.ในส่วนของนายศรีสุข รุ่งวิสัย ผู้คัดค้าน และให้มีการสรรหาส.ว.ใหม่ในส่วนของผู้คัดค้าน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังพิพากษาแล้ว นายศรีสุขรีบเดินออกจากอาคารศาลฎีกาไปที่ลานจอดรถทันที โดยระบุสั้นๆ ว่า โอเคครับ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ ลต.(ส.ว.) 1 / 2555 กรณีของนายสัก กอแสงเรือง ส.ว.สรรหา ที่ถูกกกต.เพิกถอนสิทธิการสรรหาด้วยมติเอกฉันท์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา กรณีที่นายสักพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง หรือพ้นจาก ส.ว.ชุดเลือกตั้งปี 2543 มายังไม่ถึง 5 ปี จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหานั้น ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง นัดฟังคำสั่งวันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 14.30 น.

แหล่งที่มา  
http://www.dailynews.co.th/politics/138040

ศาลรัฐธรรมนูญ แพร่คำวินิจฉัยกลาง ให้แก้ รธน.รายมาตรา – ทำประชามติ




ศาลรัฐธรรมนูญ แพร่คำวินิจฉัยกลาง ชี้ชัดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หากแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติ


Mthai News ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางที่ 19-22/2555 จำนวน 29 หน้าลงในเว็บไซต์ ตามที่มีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง


โดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับมาตรา 68 หรือไม่ โดยในรายละเอียดของคำวินิจฉัย ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะยื่นร้องต่อรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบเห็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครองโดยไม่จำเป็นที่จะต้องร้องผ่านอัยการสูงสุดได้เพียงช่องทางเดียว


ส่วนในประเด็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากจะต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ จะต้องมีการทำประชามติก่อน แต่รัฐสภาสามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในรายมาตรา ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 291


อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. ยังไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


โดยในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่มีความผิดเกิดขึ้น จึงมีความวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้งหมด

แหล่งที่มา  http://news.mthai.com/politics-news/179588.html

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทุกข์และปัญหาของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์

ทุกข์และปัญหาของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์

            แท้ที่จริงแล้วความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่คู่กันกับโลกและมนุษย์มาโดยตลอด มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นมีทุกข์เพราะไม่รู้จักธรรมชาติ ตกอยู่ในความสงสัยและหวาดกลัวเพราะยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ ต่อเมื่อหลังจากได้เรียนรู้และวิวัฒน์ตนเองมาเป็นลำดับแล้วทุกข์ในเรื่องความไม่รู้จักธรรมชาติจึงค่อยๆลดน้อยลง ต่อมาเมื่อมนุษย์สามารถอาศัยธรรมชาติและควบคุมธรรมชาติได้มากขึ้น ผลจากครอบครองและการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติอย่างไม่ลดละก็กลับทำให้มนุษย์ทุกข์เช่นเดิมอีก  ยิ่งในยุคแห่งการพัฒนาและยุคโลกาภิวัตน์นี้แล้วทุกข์และปัญหาของมนุษย์ก็นับว่ามีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอันมาก (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการติดต่อสื่อสารที่ทำให้โลกนั้นดูแคบลง หรือด้วยเหตุผลอันเกิดจากการพยายามใช้ทฤษฎีการพัฒนาแบบเดียวกันทั้งโลกก็ตาม)  ทั้งนี้เป็นที่น่าพิจารณาว่าบรรดาความก้าวหน้าทางวิทยาการและความพร้อมต่างๆที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความสุขของชีวิตนั้นไม่อาจลดขนาดของความทุกข์ให้น้อยลงไปได้แต่อย่างใด และหากพิจารณาข้อถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับความทุกข์และการพยายามแก้ไขความทุกข์ของมนุษย์จากนักวิชาการต่างๆในระยะ ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ก็จะพบว่า น้ำเสียง ของนักวิชาการส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นน้ำเสียงที่แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวนี้ไม่น้อย อาทิ[1]

            ....ในประเทศอเมริกานี้ปัญหาสังคมไม่ได้ลดลงเลย กลับมีแต่มากขึ้น ทั้งเรื่องความเสื่อมทางศีลธรรม ปัญหาเยาวชน เรื่องอบายมุข ปัญหาการติดสิ่งเสพติด ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรม การแบ่งแยกเชื้อชาติแบ่งผิว ปัญหาเหล่านี้ระบาดไปในประเทศต่างๆจนทั่วโลก ประเทศอเมริกาเองในปัจจุบันก็ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจด้วย มีปัญหาเรื่องความยากจนและการไม่มีงานทำ ส่วนในหลายประเทศก็มีช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนห่างกันมาก และปัญหาทั่วไปขณะนี้ก็คือการก่อการร้าย การขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ระหว่างชาติศาสนา ระหว่างผิวพรรณ ระหว่างประเทศ มีการสงครามแม้ว่าสงครามในระดับนิวเคลียร์ตอนนี้คนจะกลัวน้อยลง แต่ก็มีสงครามย่อยในประเทศต่างๆมากมาย อันนี้เป็นปัญหาสังคมที่มีมากในยุคที่ผ่านมาคือในยุคอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว...

            เมื่อมองแคบเข้ามาก็เจอกับปัญหาชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะปัญหาในด้านจิตใจ ประเทศที่เจริญแล้วมีปัญหาจิตใจมาก คนทั้งหลายมีจิตใจเร่าร้อน มีความกระวนกระวาย มีความกลุ้ม กังวล มีความเครียดสูง มีความเหงาความว้าเหว่ คนมากขึ้นแต่บุคคลโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น มีความรู้สึกแปลกแยก เป็นโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น จิตใจเปราะบาง ชีวิตไม่มีความหมาย นี้ก็ด้านหนึ่ง

            ..หันมาดูทางด้านกายซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต แม้ว่าจะมีการพัฒนามากขึ้น (และ)เรามีความสามารถในการบำบัดรักษา กำจัดโรคระบาดต่างๆไปได้มากมาย แต่ก็มีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นมาที่ร้ายแรง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์อย่างมากทีเดียว เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตผิดธรรมชาติบ้าง เป็นโรคที่เกิดจากจิตใจที่มีความทุกข์บ้าง เป็นโรคที่เกิดจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสีย เช่นสารเคมีที่ปะปนในอาหารที่กินเข้าไปบ้าง จากความวิปริตทางสังคมหรือศีลธรรมวัฒนธรรมบ้าง ...

            เช่นเดียวกับสุจิตรา  อ่อนค้อม นักวิชาการผู้ได้รับรางวัลความเรียงชนะเลิศระดับนานาชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็ยังได้กล่าวไว้ในส่วนหนึ่งของความเรียงซึ่งได้สะท้อนปัญหาและความทุกข์ของพลเมืองโลกไว้อย่างตรงประเด็นและน่าสนใจ ความตอนหนึ่งว่า

            ...หากเราย้อนไปดูในอดีตก็จะพบปัญหาต่างๆของสหัสวรรษที่ผ่านๆมา เช่น ความอดอยากยากจน ความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ ความขัดแย้งในเรื่องศาสนา กรณีพิพาทแย่งดินแดน การก่อการร้าย ยาเสพติด อาชญากรรม การว่างงาน โรคเอดส์ อัตวินิบาตกรรม การก่อความรุนแรง ปัญหาด้านนิเวศวิทยา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ตามติดชิดใกล้เราดุจเงาตามตัว เราได้ประจักษ์แล้วว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย ขาดสันติภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...

            ...เราประสบกับความล้มเหลวในการอยู่อย่างกลมกลืนกัน และเราได้ทำร้ายความกลมกลืนกันของโลกธรรมชาติโดยพยายามที่จะเอาชนะและกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติมาสนองความอยากที่ไม่รู้จักอิ่มเต็มของเรา ขณะเดียวกันได้ทำร้ายทรัพยากรที่ช่วยเกื้อหนุนชีวิตของเราไว้...จริงๆแล้วเราเป็นอะไรกันแน่คำตอบก็คือเราไม่รู้จักเอาชนะตัวเอง ในศตวรรษที่ผ่านมาเรามุ่งแต่จะเอาชนะธรรมชาติแต่ไม่เคยคิดที่จะเอาชนะตัวเองเลย เราเรียนรู้การต่อสู้กับความรุนแรงและความร้ายกาจของธรรมชาติแต่ลืมเรียนรู้การต่อสู้กับความคิด และการกระทำที่ร้ายกาจของเราเอง เราใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชีวิตด้านวัตถุ แต่ไม่สนใจที่จะพัฒนาด้านจิตใจ เราทำตัวไม่ต่างคนป่าเถื่อนในสมัยโบราณเท่าใดนักเพราะเราวิวาทและเกลียดชังกันและกัน ปล้นสะดมกัน ต่อสู้และแม้แต่ทำลายชีวิตกัน เราทำตามอารมณ์หุนหันพลันแล่นแทนการใช้เหตุผลและสติปัญญา... [2]

หากพิจารณาตาม น้ำเสียง ที่ปรากฏข้างต้นจะเห็นว่าปัญหาหรือความทุกข์ของมนุษยชาติในยุคโลกาภิวัตน์นี้ดูจะมีปริมาณมากและมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคยมีหลายเท่าตัว  ในยุคหนึ่งของสังคมมนุษย์เดิมซึ่งดูเหมือนกับจะมีความสุขอยูกับความพอเพียงและความพึงพอใจหลังจากสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้แล้ว กลับกลายเป็นกำลังตกอยู่ห้วงแห่งทุกข์และปัญหาอันเกิดมาจากการตักตวงเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติอย่างไม่หยุดยั้ง จากเดิมซึ่งมนุษย์เคยยินดีกับความรู้และภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเอาตัวรอดกลับกลายเป็นผู้ได้รับทุกข์สาหัสจากธรรมชาติหลังจากได้ใช้ความรู้และวิทยาการที่คิดค้นขึ้นได้นั้นเอาชนะธรรมชาติจนขาดความสมดุล ฯลฯ  ปัญหาที่มนุษย์ประสบอยู่ขณะนี้ไม่ว่าจะในที่แห่งใด ในวงวิชาการแขนงใดต่างก็หันมาให้ความสนใจกันอย่างเต็มที่เนื่องจากเริ่มตระหนักถึงโทษและภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา  ดังจะเห็นได้ว่ามีร่องรอยของการถกเถียงทางวิชาการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้งานวิชาการบางเรื่อง เช่น “ Capitalism 3.0: A guide to Reclaiming the Commons” ของ Peter Barnes หรืองานของ John Williamson   จากเรื่อง  What  Washington Means by Policy Reform” ที่เป็นต้นเค้าของ ฉันทามติวอชิงตัน(รวมทั้งตัวของฉันทามติวอชิงตันเอง) ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดข้อบกพร่อง ๕ ประการในการพัฒนาได้แก่ ๑) การทำลายสมดุลธรรมชาติ ๒) การก่อให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ๓) กลุ่มประเทศชายขอบและกึ่งชายขอบต่างๆไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้  ๔)  เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยมอย่างขนานใหญ่  ๕) การบริโภคส่วนใหญ่ไม่อาจตอบโจทย์ความสุขที่แท้จริงได้ [3]  การเกิดประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์กำลังเริ่มตื่นตัวและกลับเป็นทุกข์ขึ้นอีกครั้งหลังจากได้พบผลร้ายของการพยายามควบคุมและทำร้ายธรรมชาติดังที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือมนุษย์จะเลือกใช้กลวิธีแก้ทุกข์ที่เป็นอยู่อย่างไร ความรู้และภูมิปัญญาของมนุษย์ซึ่งได้ศึกษาและสั่งสมมามากมายและยาวนานนั้นจะช่วยมนุษย์ให้กลับคืนสู่วิถีทางที่เป็นสุขได้หรือไม่ และหากเป็นไปได้กระบวนการที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไร

            ความทุกข์อันหนักของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์นี้มีมากมายหลายประการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในทางโลก (หรือโลกวิสัย) มักไม่ได้มีการจัดกลุ่มหรือจัดประเภทของความทุกข์ไว้ดังเช่นที่ในพระพุทธศาสนาได้จัด มนุษยชาติส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่าทุกข์นั้นมีทั้งทุกข์ที่เป็นประจำและทุกข์จร[4] การไม่เข้าใจลักษณะของทุกข์ว่าเป็นอย่างไรนี้จึงส่งผลให้ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาถึงมูลเหตุที่แท้จริงได้ทำให้ความทุกข์นั้นไม่หายไป ขณะเดียวกันเพราะความไม่เข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงที่มนุษยชาติกำลังแสวงหานั้นคืออะไรทำให้การกำหนดเป้าหมายหรือทิศทางในการพัฒนาหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้น (นับตั้งแต่ปรัชญาแนวคิด วิทยาการ เทคโนโลยี การส่งเสริมความรู้ ฯลฯ) นั้นบิดเบือนไปจนไม่สามารถตอบสนองคุณค่าที่แท้จริงได้ ซึ่งสภาพการณ์เช่นที่กล่าวมานี้ก็ดำเนินมาตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มแสวงหาความรู้และก่อร่างสร้างสังคมมนุษย์ขึ้นแล้ว

            ในยุคโลกาภิวัตน์นี้เนื่องจากวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจาก ยุคแห่งการพัฒนา และยุคแห่งการพัฒนาก็สืบเนื่องมาจากยุคปฏิวัติอุสาหกรรม (Industrial Revolution) ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการตามลำดับ เพราะเหตุนั้นเป้าหมายและการดำเนินการของมนุษย์จึงมีลักษณะที่เน้นย้ำมาตามแนวทางเดิมตลอดมาคือ การมุ่งพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก (โดยมักจะละเลยต่อระบบความสัมพันธ์และความสมดุลของธรรมชาติ) ส่งผลให้ในท้ายที่สุดมนุษยชาติจึงต้องเป็นทุกข์เพราะปัญหาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งด้านทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆคล้ายกับไม่มีจุดจบ การแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ด้านทรัพยากรเหล่านี้จึงทำให้มนุษย์ไม่สามารถบรรลุถึงความสุขที่ยั่งยืนได้ดังที่ควรจะเป็น

           

ทั้งนี้ ตัวอย่างร่องรอยของปัญหาที่เกิดขึ้นที่ลุกลามมาจนถึงปัจจุบันมีอาทิ [5]

·       ปัญหาจากการที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรบนพื้นผิวโลกไปมาก คือใช้ไปร้อยละ ๗๐ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๑ และร้อยละ ๑๒๐ ในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๒

·       ปัญหาความยากจนจำนวนมากของประชากรโลกสูงถึง ๑.๑ พันล้านคนจาก ๖.๕ พันล้านคน ประชากรเหล่านี้มีรายได้น้อยกว่าวันละ ๑ ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ ๔๐ บาท) คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารและน้ำสะอาด ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับบริการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

·       ปัญหาของการที่เด็กๆได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมโดยเฉพาะในแอฟริกาตอนใต้เด็กหญิงมีระดับการศึกษาต่ำกว่าเด็กชายมาก

·       ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV อย่างรุนแรง กล่าวคือประมาณ ๔๐ ล้านคน ขณะที่เชื้อมาลาเรียก็ยังคงคร่าชีวิตมนุษย์สูงถึงปีละราว ๓ ล้านคน

·       ปัญหาสตรีเสียชีวิตขณะคลอดในประเทศกำลังพัฒนาในปริมาณมาก สาเหตุเพราะระบบการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีพอ

ฯลฯ



            จุดบกพร่องใหญ่ๆที่ทำให้ยุคโลกาภิวัตน์เริ่มเป็นยุคที่มนุษย์มีความทุกข์มากขึ้นจึงย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของการที่พยายามสร้างโลกไร้พรมแดน (Global World)ขึ้นโดยปราศจากการเตรียมการที่ดีไว้ล่วงหน้า มนุษยชาติอาจยินดีต่อการที่ผู้คนในโลกสามารถเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็ว สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว แลกเปลี่ยนความเจริญก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆกันได้อย่างรวดเร็วทันอกทันใจ แต่ผลของการที่ไม่ได้ตระหนักถึงการเตรียมตัวที่ดีไว้ล่วงหน้าทำให้กระแสดังกล่าวไปกระตุ้นความอยากได้อยากมีของผู้คนในสังคมที่ด้อยกว่าให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สังคมที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นเกิดการ เปรียบเทียบความเจริญ ต่อกัน ขณะที่ผู้คนในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าต่างพยายามถีบตัวขึ้นเพื่อให้ทัดเทียมประเทศที่ก้าวหน้าโดยลืมหันมองรากฐานของตนเอง ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยิ่งยั่วยุประเทศอื่นให้เร่งการถีบตัวนั้นให้มากขึ้นอีก พร้อมกับยิ่งยกระดับมาตรฐานของนิยามคำว่า พัฒนา ให้สูงขึ้นไปอีกเช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงยิ่งทำให้โลกที่ไร้พรมแดนยิ่งเป็นโลกที่มีแต่การดิ้นรนและเร่งเร้าให้เกิดความทุกข์มากขึ้นไปอีกในทุกหย่อมหญ้าของโลก อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้เมื่อประชาคมโลกต่างเห็นความจริงและเริ่มตระหนักถึงผลร้ายดังกล่าวนี้แล้วเราจึงได้เห็นว่าทิศทางของสังคมโลกส่วนหนึ่งจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปดังปรากฏว่าบางประเทศเริ่มตั้งลำนโยบายของตนใหม่ องค์การสหประชาชาติมีการแสดงจุดยืนในการช่วยเหลือประชากรโลกที่กำลังเดือดร้อน องค์กรบรรเทาทุกข์จำนวนมากเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นอีกเรี่ยวแรงหนึ่งในการแก้ปัญหา (ทั้งนี้แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่บางประเทศที่เคยเป็นต้นตอแห่งปัญหาก็หันมาร่วมในกระบวนการแก้ไขด้วย) ซึ่งหากกล่าวเฉพาะในเรื่องความยากจนเพียงประการเดียว ยอดเงินที่ต้องใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการพัฒนาทั่วทั้งโลกประมาณ ๑ แสน ๖ หมื่นล้านดอลล่าร์ต่อปี[6] สัญญาณดังกล่าวนี้แม้ในทางหนึ่งควรนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นที่สั่งสมมาก่อนยุคโลกาภิวัตน์ดังกล่าวแล้ว











[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) (ปัจจุบันเป็นที่พระพรหมคุณาภรณ์),การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development),(ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑) หน้า ๓๔-๓๘

[2] สุจิตรา  อ่อนค้อม.๒๕๔๖, การสร้างสันติภาพแบบยั่งยืน ความเรียงรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติจากองค์กรนักคิดใหม่ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑), พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๒-๓ 

[3] แท้ที่จริงแล้วต้นเค้าของการวิพากษ์เรื่อง Capitalism 3.0: A guide to Reclaiming the Commons” ของ Peter Barnes นี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิด “ ทุนนิยม ๒.๐ ที่เกิดมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย เพราะแนวคิดทุนนิยม ๒.๐ นั้นเองที่เปลี่ยนแปลงฐานคิดจากทุนนิยม ๑.๐ ที่เพียงเน้นเรื่อง “ทุนนิยมเพื่อบรรเทาความขาดแคลน” มาเป็น “ทุนนิยมที่ไม่มีข้อจำกัดในการผลิต” ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนทุนนิยม ๓.๐  หลายประการ ขณะเดียวกัน แนวคิดทุนนิยม ๒.๐ เองก็ได้รับการสนับสนุนจากค่ายทุนนิยม ซึ่งภายหลังถูกวิวัฒน์มาเป็นแนวคิดที่เรียกว่า “ TINA” อันหมายถึง “พลังของตลาดและทุน” ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นต้นรากของความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตและพลังของประชาชนที่เดือดร้อนเพราะการผลิตที่ไร้ขอบเขตดังกล่าว (ดูใน สุวิทย์  เมษินทรีย์. โลกพลิกโฉม ความมั่งคั่งในนิยามใหม่.กรุงเทพฯสยามเอ็มแอนด์บี พับลิชชิ่ง.๒๕๕๐)



[4] ทุกข์ประจำ คือ ทุกข์ที่อยู่กับตัวมนุษย์ตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ วัยชรา จนกระทั่งถึงวันที่จากโลกนี้ไปอย่างไม่หวนกลับ ได้แก่

๑. ทุกข์ คือ การเกิด เป็นทุกข์ประจำอันบังเกิดแก่สัตว์ ที่ถือกำเนิดอยู่ในวัฏสงสาร
๒. ทุกข์ คือ ความแก่ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้ร่างกาย ตา หู จมูก ปาก อวัยวะภายใน-ภายนอก ทรุดโทรม เสื่อมถอย คร่ำคร่า วิกลวิปริต
๓. ทุกข์ คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ประสบทุกขเวทนาด้วยประการต่างๆ
๔. ทุกข์ คือ ความตาย เป็นทุกข์ที่มีลักษณะตัดเสียซึ่งการมีชีวิต  

ทุกข์จร คือ ทุกข์ที่แวะเวียนเข้ามาให้เกิดความเดือดร้อนกายและใจเป็นบางครั้งบางคราว ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งแต่ละครั้งที่แวะเข้ามา ก็ทำเอาเจ็บปวดใจและกายอย่างสาหัสเหลือเกิน ได้แก่

๑. ทุกข์ คือ ความโศกเศร้า เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้เดือดร้อน พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย อัดอั้นตันใจ เหมือนมีไฟสุมอยู่ในอกจนแห้งไปทั้งใจ เหมือนไม่มีชีวิตชีวา   
๒. ทุกข์ คือ ปริเทวะ เป็นทุกข์ที่เป็นต้นเหตุให้ร่ำไห้ ฟูมฟาย หลั่งน้ำตานองหน้า
๓. ทุกข์ คือ ทุกขะ เป็นทุกข์ที่ทำให้จิตใจสลดหดหู่หมดกำลังใจ ไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆ
๔. ทุกข์ คือ โทมนัสสะ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ขัดใจ และขึ้งเคียด
๕. ทุกข์ คือ อุปายาสะ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้สะอื้นไห้ เพราะความอาลัยอาวรณ์
๖. ทุกข์ คือ อัปปิเยหิสัมปโยคะ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้ขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ ด้วยเหตุที่ต้องประสบสิ่งอันมิได้เป็นที่รัก
๗. ทุกข์ คือ ปิเยหิวิปปโยคะ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้ขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ ด้วยเหตุที่ต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
๘. ทุกข์ คือ ยัมปิจฉัง นลภติ เป็นทุกข์ที่มีลักษณะทำให้หม่นหมอง หมกมุ่น วุ่นวายใจ ในขณะที่ปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่สมปรารถนา

แหล่งที่มา  http://www.vcharkarn.com/vblog/114522/3

การเมือง

<iframe width="420" height="315" src="http://www.youtube.com/embed/-vsej6P0Y80" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

สองมาตรฐานการเมืองไทย (double standard)

80ปี 24มิถุนา ไม่มีประชาธิปไตย-จตุพร